วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประโยชน์ของพืช GMOs

ข้อดี หรือ ประโยชน์ ของ GMOs (Advantages of GMOs)


มะเขือเทศ GMOs
ประโยชน์ทางด้านการเกษตร
- ทำให้เกิดพืชที่ให้ผลผลิตมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผลมีขนาดใหญ่ขึ้น (เช่น มะเขือเทศมีผลขนาดใหญ่ขึ้น), ผลมีปริมาณมากขึ้น (เช่น ปริมาณเมล็ดข้าวต่อต้นมากขึ้น), ผลมีน้ำหนักมากขึ้น (เช่น มะละกอที่มีน้ำหนักมากกว่ามะละกอปกติทั่วไป)
- ทำให้เกิดพืชที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม โดย ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกหรือเจริญเติบโตของพืช ตัวอย่างเช่น พืชที่ทนแล้ง (เช่น ข้าวทนแล้ง), พืชที่ทนต่อดินเค็ม (เช่น ข้าวทนดินเค็ม), พืชที่ทนต่อดินเปรี้ยว เป็นต้น
- ทำให้เกิดพืชที่ทนต่อศัตรูพืช เช่น พืชที่ทนต่อเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคพืช พืชที่ทนต่อเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคพืช พืชที่ทนต่อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคพืช ทนต่อแมลงศัตรูพืช หรือแม้แต่ทนต่อยาฆ่าแมลง และทนต่อยาปราบวัชพืช
- เมื่อทำให้พืชลดการใช้สารเคมี พิษจากสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเกษตรกรก็ลดลง
- ทำให้เกิดพืชที่มีผลผลิตที่สามารถเก็บรักษาเป็นเวลานาน และอยู่ได้นาน ทำให้ขั้นตอนในการขนส่งสามารถขนส่งในระยะไกลโดยไม่เน่าหรือเสีย เช่น มะเขือเทศที่ถูกทำให้สุกช้า หรือถึงแม้จะสุกแต่ก็ไม่งอม เนื้อยังแข็งและกรอบ ไม่เละเมื่อไปถึงมือผู้บริโภค

ประโยชน์ต่อผู้บริโภค
- ทำให้เกิด พืช ผัก ผลไม้ มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มมากขึ้น เช่น ทำให้มะเขือเทศมีวิตามินอีมากขึ้น ทำให้ส้มหรือมะนาวที่มีวิตามินซีเพิ่มมากขึ้น ทำให้กล้วยมีวิตามินเอเพิ่มขึ้น เป็นต้น
- ทำให้ลดการขาดแคลนอาหารได้ เนื่องจากการปรับปรุงพันธุ์ให้มีผลผลิตและความต้านทานต่างๆมากขึ้น ทำให้มีผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องอาหารที่เพิ่มมากขึ้น
ประโยชน์ด้านการพาณิชย์
- ลดขั้นตอนและระยะเวลาของการผสมพันธุ์พืช ซึ่งหากช่วงชีวิตของพืชที่ต้องการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีเดิมยาวนานกว่าจะได้ผล และต้องทำการคัดเลือกพันธุ์อยู่หลายครั้ง การทำ GMOsทำให้ขั้นตอนนี้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก
- ทำให้เกิดพืชพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ในการพาณิชย์ เช่น ดอกไม้หรือพวกไม้ประดับที่มีรูปร่างแปลกกว่าเดิม มีขนาดใหญ่กว่าเดิม สีสันแปลกไปจากเดิม (เช่น กุหลาบสีน้ำเงิน) หรือมีความคงทนกว่าเดิม
ประโยชน์ต่อด้านการอุตสาหกรรม
- หากทำพืช GMOs ให้สามารถลดการใช้สารเคมี และช่วยให้มีผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิม  ทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงและเวลาที่ใช้ก็ลดลงด้วย วัตถุดิบที่ได้มาจากภาคการเกษตร เช่น ซังข้าวโพด แกลบ กากถั่วเหลือง อาหารสัตว์ จึงมีราคาถูกลง
- มี GMOs หลายชนิดที่ไม่ใช่พืช ที่ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เอนไซม์ที่ใช้ในการผลิตน้ำผักผลไม้ หรือ เอนไซม์ ไคโมซิน (Chymosin) ที่ใช้ในการผลิตเนยแข็งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก GMOs และทำมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้ลดทั้งต้นทุนการผลิตและเวลาที่ต้องใช้ลง
ประโยชน์ต่อด้านการแพทย์
- การผลิตวัคซีน หรือยาชนิดต่างๆ ในอุตสาหกรรมยาปัจจุบันนี้ล้วนแล้วแต่ใช้ GMOs ช่วยแทบทั้งสิ้น อีกไม่นานนี้ เราอาจมีน้ำนมวัวที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนหรือตัวยาที่จำเป็นต่อมนุษย์
- ช่วยลดการขาดแคลนยาหรือวัคซีนได้มากขึ้น เพราะ GMOs สามารถช่วยเพิ่มการผลิตสิ่งเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้นได้
ประโยชน์ต่อด้านสิ่งแวดล้อม
- หากทำพืช GMOs ให้สามารถป้องกันศัตรูพืชได้เอง จำนวนการใช้สารเคมีชนิดต่างๆเพื่อการปราบศัตรูพืชก็จะลดน้อยลงจนอาจถึงไม่ต้องใช้เลยก็ได้ ทำให้มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสารเคมีลดลง
- ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากยีนที่มีการแสดงออกที่มีประโยชน์ถูกเลือกให้รับโอกาสในการแสดงออกในสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดมากขึ้น

ข้อเสีย หรือ ผลเสีย ของ GMOs (Disadvantages of GMOs)


พืช GMOs
ปัญหาด้านของความเสี่ยงต่อผู้บริโภค
- ปัญหาเรื่อง อาจมีสิ่งอื่นเจือปนที่ทำให้เกิดอันตรายจากสารอาหารที่ได้จากจีเอ็มโอ(GMOs) ได้ เช่น เคยมีข่าวว่า คนในสหรัฐอเมริกาเกิดการล้มป่วยและเสียชีวิตเกิดขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการบริโภค กรดอะมิโน L-Tryptophan ซึ่งเป็นสารอาหารที่ได้จากจีเอ็มโอ(GMOs)โดยเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Showa Denko แต่ความจริงแล้วจีเอ็มโอ(GMOs) ไม่ได้เป็นสาเหตุของอันตราย แต่เกิดจากความผิดพลาดในกระบวนการหลังการทำให้บริสุทธิ์ของผลิตภัณฑ์ โดยในขั้นของการควบคุมคุณภาพ (Quality Control) มีความบกพร่องจนมีสิ่งเจือปนที่ไม่ต้องการเหลืออยู่

- ปัญหาเรื่อง จีเอ็มโอ(GMOs)อาจเป็นพาหะของสารที่เป็นอันตรายได้ อย่างในการทดลองของ Dr.Pusztai ได้ทำการทดลองให้หนูกินมันฝรั่งดิบที่มีสารเลคติน(lectin)เจือปนอยู่ แล้วผลออกมาว่าหนูมีภูมิคุ้มกันลดลง รวมถึงลำไส้ของหนูมีลักษณะบวมอย่างผิดปกติ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากวิจารณ์การทดลองนี้ว่า มีความบกพร่องในการออกแบบการทดลองรวมถึงในวิธีการทดลอง ซึ่งเชื่อว่าต่อไปจะมีการทดลองที่รัดกุมมากขึ้น และมีคนกังวลว่าดีเอ็นเอ (DNA) จากไวรัสที่ใช้ในการทำจีเอ็มโอ(GMOs) อาจเป็นอันตรายได้
- ปัญหาเรื่อง อาจมีสารบางอย่างจากจีเอ็มโอ(GMOs) มีไม่เท่ากับปริมาณสารปกติในธรรมชาติ (สารที่ไม่ได้เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมแล้วใส่ยีน(gene)ที่จะผลิตสารนั้นโดยตรงลงไป) อย่างมีรายงานว่าถั่วเหลืองที่เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมมีสาร isoflavone {เป็นสารจำพวก phytoestrogen [ซึ่งคล้ายสารจำพวกฮอร์โมนเอสโตรเจน(estrogen)ในคน]} มากกว่าถั่วเหลืองในธรรมชาติเล็กน้อย ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน estrogen อาจทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จีเอ็มโอ(GMOs) หรือเปล่า โดยเฉพาะในเด็กทารก
- ปัญหาเรื่อง อาจการเกิดสารภูมิแพ้(allergen)ซึ่งอาจได้มาจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นแหล่งเดิมของยีน(gene)ที่นำมาใช้ทำจีเอ็มโอ(GMOs)นั้น อย่างการใช้ยีน(gene)จากถั่ว Brazil nut มาทำจีเอ็มโอ(GMOs)เพื่อเพิ่มคุณค่าของโปรตีนในถั่วเหลืองให้มากขึ้นสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ก่อนที่จะออกจำหน่ายพบว่าจีเอ็มโอ(GMOs)ที่เป็นถั่วเหลืองชนิดนี้อาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดอาการแพ้ได้ เนื่องจากได้รับโปรตีนที่เป็นสารภูมิแพ้จากถั่ว Brazil nut ทางบริษัทจึงได้ระงับการพัฒนาและการจำหน่ายจีเอ็มโอ(GMOs)ชนิดนี้ แต่ถึงอย่างนั้นพืชจีเอ็มโอ(GMOs)ชนิดอื่นๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ อย่างพวก ถั่วเหลืองและข้าวโพดนั้น ได้มีการประเมินแล้วว่า มีอัตราความเสี่ยงไม่แตกต่างจากถั่วเหลืองและข้าวโพดที่ปลูกอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ
- ปัญหาเรื่อง ความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในการตัดต่อพันธุกรรมในสัตว์ อย่างใน วัว หมู ไก่ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่จะได้รับ recombinant growth hormone ทำให้อาจมีคุณภาพที่ไม่เหมือนจากในธรรมชาติ และอาจมีสารตกค้าง โดยไม่มีข้อยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งในระบบสรีระวิทยาของสัตว์นั้นมีความซับซ้อนมากกว่าทั้งของในพืชและจุลินทรีย์ อาจมีผลกระทบอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดได้จากการตัดต่อพันธุกรรมในสัตว์ ซึ่งอาจมีสารพิษอื่นๆที่ไม่ต้องการตกค้างได้ ทำให้ในการตัดต่อพันธุกรรมในสัตว์ที่เป็นอาหารโดยตรง ต้องมีการพิจารณาของขั้นตอนในการประเมินในด้านความปลอดภัยที่ครอบคลุมมากกว่าการตัดต่อพันธุกรรมในจุลินทรีย์และพืช
- ปัญหาเรื่อง ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในการตัดต่อพันธุกรรมในพืช ทำให้พืชGMOs อาจมีการผลิตสารบางอย่างหรือโปรตีนบางชนิดที่ไม่พึงประสงค์ที่ไม่เหมือนจากในธรรมชาติที่พืชปกติชนิดนั้นผลิตออกมา เป็นผลอันเกิดจากการใส่ยีนที่ไม่มีอยู่ตามปกติของพืชชนิดนั้นลงไป สารหรือโปรตีนชนิดนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ ซึ่งในระบบสรีระวิทยาของพืชมีความซับซ้อนกว่าในแบคทีเรียหรือไวรัสมากอาจทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้ทั้งหมด ทั้งนี้ถ้าหากพืช GMOsผ่านการแปรรูปแล้ว จะมีความเสี่ยง(ในกรณีนี้)น้อยกว่า ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป
- ปัญหาเรื่อง การดื้อยาในการทำจีเอ็มโอ(GMOs)จะใช้ selectable marker ที่มักเป็นยีน(gene)ที่สร้างสารต้านยาปฏิชีวนะ (antibiotic resistance) ในจีเอ็มโอ(GMOs)อาจมีสารต้านยาปฏิชีวนะอยู่ ซึ่งถ้าผู้บริโภคจีเอ็มโอ(GMOs)กำลังอยู่ระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะ อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล โดยเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยและสามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ และถ้าหากเชื้อจุลินทรีย์ที่มีตามปกติในร่างกายเกิดได้รับ marker gene เข้าไปในส่วนดีเอ็นเอ(DNA)ของมัน อาจทำให้เกิดจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่ที่อาจดื้อยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ได้คิดหาวิธีใหม่ที่ไม่ต้องใช้ selectable marker ที่เป็นสารต้านยาปฏิชีวนะ หรือนำยีน(gene)ในส่วนที่สร้างสารต้านปฏิชีวนะออกไปก่อนเป็นจีเอ็มโอ(GMOs)เป็นผลิตภัณฑ์เต็มตัว
- ปัญหาเรื่อง อาจมีส่วนของยีน(gene)จำพวก 35S promoter และ NOS terminator ที่อาจมีอยู่ในเซลล์ของจีเอ็มโอ(GMOs)ซึ่งอาจจะไม่ถูกย่อยในส่วนของกระเพาะอาหารและส่วนของลำไส้ แล้วเข้าสู่เซลล์ปกติของคนที่รับประทานจีเอ็มโอ(GMOs)เข้าไป แล้วอาจทำให้มีการ active ของสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มีผลอาจทำให้ยีน(gene)ของคนที่รับประทานเข้าไปเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่จากผลการทดลองที่ผ่านๆมาได้มีการยืนยันว่า มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก
- ปัญหาเรื่อง บางสิ่งเล็กน้อยที่ต้องระวัง เช่น เด็กทารกซึ่งอาจย่อยดีเอ็นเอ(DNA)ในอาหารได้ไม่สมบูรณ์หากเทียบกับผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กทารกมีระบบทางเดินอาหารที่สั้นกว่าของผู้ใหญ่ แต่อาจทำให้เกิดอันตรายค่อนข้างต่ำ แต่ก็ต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไป
ปัญหาด้านของความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม
- ปัญหาเรื่อง สารพิษบางชนิดที่ใช้ปราบแมลงศัตรูพืช อาจกระทบถึงแมลงและสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อพืช เช่น Bt toxin ที่มักใส่ในจีเอ็มโอ(GMOs) อย่างผลการทดลองของ Losey มหาวิทยาลัย Cornell ได้ศึกษาผลกระทบของสารฆ่าแมลงของเชื้อ Bacillus thuringiensis (บีที) ในข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรมที่มีต่อผีเสื้อ Monarch ในการทดลองนี้ทำในสถานที่ทดลองภายใต้สภาวะเงื่อนไขที่ Stress โดยให้ผลเพียงในขั้นต้นเท่านั้น ซึ่งต้องมีการทดลองในภาคสนามอีกเพื่อให้ได้ผลที่มีนัยสำคัญ ก่อนที่จะมีการสรุปผลและมีการนำไปขยายความต่อไป
- ปัญหาเรื่องสารเคมีปนเปื้อน แม้ว่าจะมีการกล่าวว่าการปลูกพืช GMOs นั้นลดการใช้สารเคมี แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการปลูกพืช GMOs ในเชิงพาณิชย์ที่มีการตัดต่อยีนให้ทนต่อไกลโฟเซต (Glyphosate) {ชื่อทางการค้าของไกลโฟเซตคือ ราวด์อั้พ (RoundUp) ผลิตโดยมอนซานโต้ เป็นยาปราบวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้า} ที่นิยมปลูกกันแพร่หลายในหลายประเทศที่ปลูกพืช GMOsมีผลทำให้เกษตรกรใช้ไกลโฟเซตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้มีการปนเปื้อนสารเคมีชนิดนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสุขภาพของผู้ใช้สารเคมี ผู้คนในบริเวณใกล้เคียง และอาจรวมถึงผู้บริโภคด้วย แม้ว่าพิษของไกลโฟเซตนั้นจะไม่ร้ายแรงถึงขั้นตายในทันที แต่พิษของมันจะสะสมในร่างกายส่งผลเสียในระยะยาวได้และการใช้ไกลโฟเซตบ่อยๆอาจทำให้เกิด สุดยอดวัชพืช(Super Weed) ที่ทนทานต่อไกลโฟเซตได้
- ปัญหาในเรื่อง การนำจีเอ็มโอ(GMOs)ออกสู่สิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยอาจมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งอาจทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นเหนือกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติมากจนกลืนสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติให้หายไปหรือสูญพันธุ์ไป หรืออาจเกิดลักษณะเด่นอะไรบางอย่างถูกถ่ายทอดไปยังสายพันธุ์ที่ไม่ต้องการ หรืออาจทำให้ศัตรูพืชดื้อต่อสารเคมีปราบศัตรูพืช อาจทำให้เกิด “สุดยอดแมลง(Super Bug)” หรือ “สุดยอดวัชพืช(Super Weed)”ได้
ปัญหาด้านของเศรษฐกิจและสังคม
- ปัญหาในเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ เช่น การผูกขาดทางสินค้าจีเอ็มโอ(GMOs)ของบริษัทเอกชนที่จดสิทธิบัตรเกี่ยวกับจีเอ็มโอ(GMOs)นั้น ทำให้ในอนาคตอาจเกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหารได้และไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป รวมถึง ปัญหาในเวทีการค้าระหว่างประเทศที่กีดกันสินค้าจีเอ็มโอ(GMOs)
อ้างอิงจาก http://www.thaibiotech.info/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น